นายกสมาคมภัตตาคารไทย ออกมาเปิดเผยว่า เธอเข้าใจการตัดสินใจของ ศบค. และ เล็งเสนอ ปรับเวลาดื่มแอลกอฮอลล์ เป็น 23.00 น. หากโควิดดีขึ้น นาง ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้ออกมากล่าวถึงคำสั่งของที่ประชุม ศบค. ที่ปรับเวลาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในพื้นที่โซนสีฟ้า หรือ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เป็น 21.00 น. จากเดิม 23.00 น. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดกลับมาน่ากังวลอีกครั้ง
โดย นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า
จากประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ประกอบการร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ที่ปรับตัวมาเป็นร้านอาหารอยู่แล้ว แต่เข้าใจว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ร้านอาหารกึ่งผับบางร้านปล่อยปะละเลย จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระจายของเชื้อโควิด -19 ขึ้น ดังนั้น การที่ ศบค.คงมติเดิมไว้จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งทางผู้ประกอบการเข้าใจและยอมรับผล อีกทั้งยังเป็นเรื่องดีที่ได้สั่งห้ามขายเครื่องเดิมแอลกอฮอล์ไปทั้งหมดเลย
นางฐนิวรรณกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ทางสมาคมฯ จะมีการเน้นย้ำผู้ประกอบการให้มากขึ้น และขอชี้แจงว่าไม่ใช่ทุกร้านที่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ร้านที่สามารถขายได้ต้องมีมาตรฐานหรือเครื่องหมายความปลอดภัยด้านสาธารณสุข (SHA Plus) และมาตรฐาน Thai Stop Covid Plus เท่านั้น ประชาชน หรือผู้บริโภค ต้องดูแลป้องกันตัวเอง โดยการเลือกเข้าใช้บริการร้านที่มีสัญลักษณ์เหล่านี้ด้วย เพื่อมั่นใจได้ว่าปลอดภัยและได้มาตรฐานตามที่สาธารณสุขกำหนดไว้แน่นอน
“อยากให้ผู้ประกอบการทุกร้านศึกษาเรื่องมาตรฐาน SHA Plus เพิ่มขึ้น เนื่องจากเรายังต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนาน โดยเฉพาะร้านที่ปรับตัวจากผับบาร์มาเป็นร้านอาหารกว่า 1 หมื่นร้าน ยิ่งต้องทำความเข้าใจให้มาก เพราะต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ล้วนแต่เกิดในธุรกิจกลุ่มนี้ ดังนั้น ต้องเร่งทำความเข้าใจเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าได้ต่อไป” นางฐนิวรรณกล่าว
นางฐนิวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เริ่มคลี่คลาย ทางสมาคมฯ จะเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอขยายเวลาให้ร้านอาหารที่มีมาตรฐานหรือเครื่องหมาย SHA Plus และ Thai Stop Covid Plus ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเดิมขายได้ถึงเวลา 21.00 น. ขยายเป็น 23.00 น. เพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภค และเพิ่มรายได้ให้กับร้านอาหารต่อไป
เดลตาครอน ศูนย์จีโนม รามาฯ ชี้ อาจปนเปื้อนในห้องแลปมากกว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่
ศูนย์จีโนม โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่บทความวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม เดลตาครอน โควิดสายพันธุ์ที่นักวิจัยชาวไซปรัสพบ ชี้ข้อสังเกต อาจเป็นการปนเปื้อนจากห้องแลป เพราะ 25 เคสไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน และหากมีสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน ศูนย์จีโนม ต้องตรวจพบแน่นอน
วันนี้ 9 ม.ค. อัปเดตข่าวเดลตาครอนล่าสุด หลังจากสื่อต่างประเทศรายงาน นักวิจัยชาวไซปรัส พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีพันธุกรรมผสมระหว่าง โอมิครอน กับ เดลต้านั้น เฟซบุ๊ก Center of Medical Genomics ของศูนย์จีโนม โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “Deltacron”สายพันธุ์ลูกผสม หรือการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ ความว่า มีผู้สอบถามเข้ามาที่ศูนย์จีโนม รพ. รามาธิบดี มากมายว่าเกิดสายพันธุ์ลูกผสม “Deltacron” ขึ้นที่ไซปรัสแล้วใช่หรือไม่ คำตอบคือน่าจะไม่ใช่ครับ
เพราะ Dr. Tom Peacock ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลกชาวอังกฤษ รีบทวิตแจ้งว่าจากการพิจารณารหัสพันธุกรรมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” และ “เดลตา” ในห้องปฏิบัติการ เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม และจากการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic tree พบว่าตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกันซึ่งแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน
ล่าสุด ศูนย์จีโนมฯ ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจำนวน 25 ตัวอย่างที่ทางไซปรัสได้อัปโหลดขึ้นมาแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” โลก เห็นพ้องเช่นเดียวกับที่ ดร. Tom Peacock กล่าวไว้คือเมื่อนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic tree (ภาพ ขวามือ) พบว่าตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกันซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ มีที่มาจากแหล่งเดียวกันยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน และจากรหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” เข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม
คำถามที่ถามตามมาคือหากมีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาจริงๆ ทางศูนย์จีโนมฯจะตรวจพบหรือไม่ คำตอบคือน่าจะตรวจพบครับเพราะขณะนี้เราถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีสายยาว (long-read sequencing) ประมาณ 1,000-2,000 ตำแหน่งต่อสาย
ดังนั้นหากพบรหัสพันธุ์กรรมของ “เดลตา” และ “โอมิครอน” ปนกันอยู่ในสายเดียวกัน ก็แสดงว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม